30 มีนาคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวงศ์ชัย ไชยโย ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 1 และ 2 นางสุชาดา เคนพิทักษ์ สหกรณ์จังหวัดปทุมธานี และคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ ณ แปลงกล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้ขับเคลื่อนงานระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้วยเศรษฐกิจแบบองค์รวม และกำลังพัฒนายกระดับสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ในโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง
สำหรับแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ขับเคลื่อนงานภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรสู่ 3 สูง ได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มีการจัดทำแปลงต้นแบบกล้วยหอมทองปทุมธานี ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยหอมเป็นสินค้ากล้วยหอมทองทอดกรอบ กล้วยหอมทองทอดสุญญากาศ เค้กกล้วยหอมทอง และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในแปลงปลูก ส่งเสริมและสนับสนุนการนำกาบกล้วยมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถุงรักษ์โลก กระถางชีวภาพ พัฒนาเป็นเส้นใยกล้วยเพื่อเป็นสิ่งทอ ประชาสัมพันธ์และจัดทำแหล่งเรียนรู้/แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP และ GI มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดทั้งในกระบวนการผลิตและการแปรรูป มีประชาสัมพันธ์การบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรฯ ได้ส่งเสริมการทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2564 โดยผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ มีการทำแผนและปฏิทินร่วมกัน เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิต (ค่าแรงงาน ค่าวัสดุ ค่าเช่าที่ดิน และรายจ่ายอื่น ๆ) จากเดิมมีการลงทุนการผลิต ซึ่งมีรายจ่ายโดยรวมประมาณ 41,042 บาท/ไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิต เหลือ 35,142 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 15 จากการลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต เพาะหน่อพันธุ์ดีไว้ใช้เอง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช และช่วยเพิ่มผลผลิต จากเดิม 4,000 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 20 สร้างรายได้เพิ่มจากเดิม 8,458 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 14,858 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 จากการดูแลรักษาตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก เลือกต้นพันธุ์คุณภาพ
จากภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 23 ราย พื้นที่ปลูกรวม 800 ไร่ สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP แล้วจำนวน 13 ราย พื้นที่ 542 ไร่ และมีสมาชิกได้การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI “กล้วยหอมทองปทุม” จำนวน 21 ราย พื้นที่ 1,203 ไร่ โดยกลุ่มมีแผนที่จะพัฒนาให้เกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่ทุกคนได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งหมด
ทั้งนี้ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง จำนวน 8,585 ไร่ เฉพาะในตำบลนพรัตน์มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 3,183 ไร่ (ข้อมูล ณ เดือน มี.ค. 67) เฉลี่ยปลูก 300 ต้น/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 250 เครือ/ไร่ หรือ 5,000 กิโลกรัม/ไร่ ราคาขายเฉลี่ยทั้งปี 201.66 บาท/เครือ (กล้วยหอมทอง 1 เครือ ประกอบด้วยกล้วย 7 – 8 หวี น้ำหนักเฉลี่ยต่อเครือ 19 – 20 กิโลกรัม) โดยปัจจัยที่ทำให้กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ประสบความสำเร็จ เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานรัฐและตัวเกษตรกรเองที่เปิดใจรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกษตรกรมีทักษะ Learning Skills มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ และคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาและสร้างไอเดียใหม่ ประกอบกับกล้วยหอมทองนพรัตน์ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียวนวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล รสชาติหวานหอม จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 สินค้าจึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อ่านเพิ่มเติม
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์
328/11 ถนนจิระ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31000
โทรศัพท์ : 044-611442 E-mail :
Copyright © 2022 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์
ภาพประกอบโดยเว็บไซต์ iconfinder.com,freepik.com, pixabay.com, flaticon.com